วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

การสร้างแรงจูงใจให้ตนเอง (Self Motivation)

ตามแนวคิดทางจิตวิทยาพฤติกรรมมนุษย์ คนทำงานจะมีกำลังใจทำงานหนึ่งงานใดให้สำเร็จผลไปได้ด้วยดีนั้นมักจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งหัวหน้างาน  ตัวงานที่ทำ  เพื่อนร่วมงานรุ่นพี่รุ่นน้อง ค่าตอบแทนหรือรางวัลจูงใจ บรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมทางกายภาพในที่ทำงาน  รวมไปถึงตำแหน่งหน้าที่การงาน ชื่อเสียง และภาพลักษณ์ขององค์กร เป็นต้น หากทำงานอยู่ภายใต้สภาพการณ์ที่ดีของขององค์ประกอบทั้งหลายที่พูดถึง  ก็มักจะมีแรงจูงใจในการทำงานเกิดขึ้นตามมา  ไม่เพียงแต่จะช่วยให้สามารถต่อสู้ฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรคได้ดีกว่าคนที่ทำงานในบรรยากาศตรงข้ามเท่านั้น หากแต่ยังเป็นพื้นฐานที่ช่วยให้คนเราสร้างสรรค์ผลงานหรือปรับปรุงงานให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ แม้จะมีข้อติดขัดหลายอย่างกีดขวาง เรามักจะพบว่า พนักงานที่มีแรงจูงใจในการทำงานดี ยิ่งบวกกับมีความภาคภูมิใจในงานที่ทำแล้ว  เขาก็จะเลือกใช้วิธีการที่ถูกต้อง พร้อมกับทุ่มเทกับการทำงานให้บรรลุเป้าหมายหรือได้ผลลัพธ์ของงานที่ดีได้มากกว่า และหากเขาสามารถครองตัวให้ทำเช่นนี้ได้อย่างสม่ำเสมอ เขาย่อมจะเป็นคนหนึ่งที่องค์กรใดต่างก็ต้องการไว้ร่วมงาน

เรื่องแรงจูงใจในการทำงานจึงเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อยที่องค์กรต่างพยายามให้น้ำหนักไปจัดการ ด้วยต่างตระหนักว่าองค์กรและงานขับเคลื่อนไปด้วยคนทำงาน และขีดความสามารถของคนทำงานที่มี (Capability) หากมิได้ผนวกเข้ากับการมีกำลังใจ (Motivation) ที่จะทำงานแล้ว ก็ย่อมสำเร็จผลได้ยาก

การที่จะมีแรงจูงใจในการทำงานและสร้างแรงจูงใจให้กับตนเองได้ทั้งที่จริงก็มิใช่เรื่องง่ายนะครับ ด้วยเพราะในชีวิตประจำวันเราจะพบเจอความคิดทางลบ ปัญหา อุปสรรคและส่งที่ไม่สบายใจสารพัดที่ทำให้ทดท้อใจอยู่ตลอดเวลา บางคนมีความกลับความกังวลใจในสถานภาพของวันหน้าที่จะเกิดขึ้นจากผลของความเปลี่ยนแปลงในองค์กร บางคนได้รับมอบหมายจากเจ้านายให้ทำงานใหม่ ๆ ทั้งที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน ก็พาลทำให้รู้สึกย่ำแย่ในแต่ละวัน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร คนที่มีแรงจูงใจในตนเองจะมีขีดความสามารถในการก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและมั่นใจ

คนทำงานอย่างท่านและอย่างผมจึงควรต้องเรียนรู้วิธีการที่จะสร้างแรงจูงใจให้ตนเองเพื่อให้ก้าวข้ามให้พ้นในแต่ละวันที่ยากลำบากไปให้ได้

หากถามว่าเหตุผลใดที่ทำให้เราสูงเสียแรงจูงใจในการทำงานของตัวเราลงไป ผมคิดว่าน่าจะมีสักสามเรื่องใหญ่ ๆ คือ (1) ขาดความมั่นใจ (Lack of Confidence) ซึ่งหากเราไม่เชื่อมั่นว่าเราจะประสบความสำเร็จในอาชีพการงานของเราได้ ก็ป่วยการที่จะลงมือพยายามจริงมั้ยครับ !!!  (2) ขาดจุดมุ่งเน้น (Lack of Focus) คือใช้ชีวิตอย่างไร้เป้าหมายหรือทำงานไปเรื่อยเปื่อยแต่ให้ผ่านไปวัน ๆ โดยไม่รู้เลยว่าที่ริงนั้นชีวิตต้องการอะไร ต้องการให้งานก้าวหน้าไปแค่ไหน  แรงจูงใจก็คงจะหายากแน่นอนครับ  และ (3) ขาดทิศทาง (Lack of Direction)  คือไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรและอย่างไรเพื่อให้เดินไปสู่เป้าหมายนั้นได้เพราะไร้เป้าหมายในชีวิต จึงยากที่จะสรรค์สร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้นกับตัวเอง

หากหัวหน้างานต้องการจะสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับตนเอง มีคำแนะนำเล็กน้อยตามสามเรื่องที่กล่าวถึงข้างต้นโดยไม่ติดกับทฤษฎีมากมายนักมาให้ลองนำไปทำดูดังนี้

เรื่องแรก เสริมสร้างความมั่นใจ (Boost Confidence) 

ตัวการที่บ่อนทำลายความมั่นใจในตัวเองอย่างแรกนั้นคือการขาดความมั่นใจในตัวเอง ที่จริงท่านสามารถสร้างแรงจูงใจให้ตัวเองได้ด้วยการทำหลายเรื่องต่อไปนี้
 o ลองค้นหาเหตุผลอย่างจริงจังสักนิดว่าที่เราขาดความมั่นใจนั้นเพราะสาเหตุใด เป็นไปได้ที่เราจะขาดความมั่นใจเพราะคิดในแง่ลบแต่ว่าเราคงทำเรื่องหนึ่งใดนั้นไม่ได้  เราชอบเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น หากเป็นเช่นนี้ ควรต้องปล่อยวางและหันมาปรับความรู้สึกให้ภูมิใจเท่าที่ตัวเองมี และมุ่งมั่นที่จะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นไปเรื่อย ๆ นะครับ

o ลดคำแก้ตัวอะไรทั้งหลายที่ชอบนำมาเป็นข้ออ้างเวลาที่ทำสิ่งใดผิดพลาดไป  ไม่มีอะไรดีไปกว่าการยอมรับมัน และมองว่ามันเป็นการเรียนรู้เพื่อให้แข็งแกร่งมากขึ้น

o มองโลกในแง่ดีโดยไม่มัวแต่กังวล หวาดกลัวการเปลี่ยนแปลง หรือเคร่งเครียดกับงานเสียจนทุกข์ระทม มองไปทางไหนก็มีแต่ปัญหาซึ่งไม่เคยหลีกเลี่ยงได้เลย ยิ่งกับบางเรื่องที่ควบคุมไม่ได้แล้วก็ยิ่งเปล่าประโยชน์ที่จะไปนั่งกังวลกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรา ขอให้ท่านลองคิดเสียว่า เราพยายามทำดีที่สุดแล้ว ผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับและเดินหน้าแก้ไขต่อไป หรือแม้จะผิดพลาดล้มเหลว ก็ถือว่าได้ประสบการณ์อันล้ำค่าสำหรับการทำเรื่องใหม่ในโอกาสหน้า เป็นต้น  เวลาที่เราหวาดกลัวที่จะต้องทำอะไรบางอย่างนั้น แก้ไขง่ายนิดเดียวด้วยการพยายามหาวิธีการที่จะทำให้สำเร็จแล้วลงมือทำสิ่งนั้นเสียเลย เท่านี้ความกลัวความกังวลก็จะหายไป ไม่ยากเลยใช่มั้ยครับ ?

o ทำพรุ่งนี้ให้ดีกว่าวันนี้ โดยไม่เก็บเอาอาการผิดหวังหรือความรู้สึกผิดในวันเก่า ๆ มาบั่นทอนกำลังใจของตนเอง แต่จงรู้สึกที่จะลืม เพราะมันผ่านไปแล้วไม่หวนกลับ มีแต่จะให้บทเรียนหรือประสบการณ์แก่เราเท่านั้น

o ไม่หันหลังเมื่อพบปัญหา แม้จะปรากฎว่าปัญหาที่กระทบนำมาซึ่งความวิตกกังวลใจก็ตาม หากปัญหานั้นเป็นเรื่องที่เราต้องเข้าไปสะสาง แต่เราเลือกที่จะเดินหนีไปก็เท่ากับท่านกำลังวางปัญหาเก่าแล้วไปสร้างปัญหาใหม่ต่อเติมโดยอาจจะไม่ทันรู้ตัว หรือบางทีปัญหาก็ยากและท้าทายอย่างมากเพราะเราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แท้จริงนั้นหัวหน้างานก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จริงมั้ยจึงไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าเดินหน้าเข้าไปหาปัญหา ลงมือแก้ไข เดี๋ยวก็มีทางออกมาเองในที่สุด และอย่างน้อยที่สุดก็ให้คิดเสียว่าการแก้ไขปัญหาเป็นหนึ่งในงานที่ต้องทำเพื่อเลี้ยงตนเอง ชีวิตก็จะเขาสบายมากขึ้น องค์กรก็ได้ประโยชน์ มองแบบนี้ ได้ผลดีทุกฝ่าย

o ไม่เอาอดีตมาเป็นอารมณ์แล้วจ่อมจมอยู่แต่กับความทุกข์ของวันวาน จะทำให้ทำงานใดก็ไม่ได้ดีอย่างที่ควร  การทำงานล้มเหลวหรือไม่ได้ผลอย่างที่คาดในวันวาน ไม่ได้การันดีว่าวันหน้าเราจะได้ผลงานอย่างนั้นเสมอไป หากตั้งใจเปลี่ยนแปลงที่จะทำงานใหม่ให้ดีขึ้นแล้ว ผลลัพธ์ที่ดีย่อมตามมาเป็นแน่ เพียงขอให้เมื่อตั้งใจแล้วลงมือทำอย่างจริงจังเท่านั้น

o ไม่กลัวที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะที่จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หรอกเราเองก็มักจะพบว่าไม่มีงานใดที่จะทำซ้ำเดิมได้โดยไม่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไร แม้ระบบงานอาจจะไม่เปลี่ยนแต่ปัญหาใหม่ ๆ มักจะเกิดขึ้นบนพื้นฐานเก่า ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงไม่มีเหตุอะไรที่ต้องกลัวการเปลี่ยนแปลง  แต่ขอให้กลัวที่จะตกยุคไม่ทันการเปลี่ยนแปลงมากกว่า หากคิดได้เช่นนี้แล้ว ก็จะมีกำลังใจฟันฝ่างานไปได้อีกหลายช่วงตัวเลยล่ะครับ

เรื่องที่สอง สร้างจุดมุ่งเน้นที่จับต้องได้ (Develop Tangible Focus)

ลองสังเกตดูสิครับว่าบ่อยครั้งเพียงใดที่ท่านมัวแต่ใจจดจ่ออยู้กับอะไรที่ไม่ได้เป็นจุดเน้นสำคัญของชีวิตการทำงานเลย แทนที่จะมองเป้าหมายและเกาะเกี่ยวมันไว้ให้แน่นแฟ้น บางคนกลัวที่จะไม่ได้รับการยอมรับนับถือจากคนอื่นรอบข้างแต่ก็ไม่เคยคิดจะไปสร้างสานความสัมพันธ์กับใครหรือคิดที่จะให้เกียรติใคร การที่จะได้รับเรื่องเช่นนี้จากคนรอบข้างคงยากยิ่งนัก

คำถามกับกรณีนี้จึงมีว่า ท่านไปเสียเวลาทำอะไรที่ไม่ใช่สิ่งที่ท่านต้องการหรือเปล่า ?

ลองเริ่มต้นด้วยการจัดทำแผนพัฒนาชีวิตทั้งในอาชีพการงานและชีวิตส่วนตัวดูเสียหน่อยท่านจะเข้าใจเป้าหมายและอาจจะมองเห็นสิ่งที่ท่านต้องการทำในชีวิตมากขึ้นได้นะครับ

หลังจากที่ได้สร้างเป้าหมายขึ้นมาและลงมือทำไปบ้างแล้ว ขอให้ท่านลองสร้างเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมเพื่อท้าทายตัวเองขึ้นอีกหน่อย เป็นธรรมดานะครับที่คนเราจะประสบความสำเร็จจากเรื่องเล็กไปเรื่องใหญ่

ขอให้รักษาเป้าหมายปลายทางและภาพความสำเร็จที่วาดหวังไว้ให้มั่นคง และใช้มันเพื่อเป็นสิ่งผลักดันไปสู่สิ่งที่ต้องการ

หลังจากนั้นอะไรก็ไม่ยากเย็นแล้วล่ะครับ

ในทางหนึ่งควรตระหนักด้วยว่าคนเรานั้นไม่ได้ทำงานเพียงลำพังหรอกนะครับ  เราต้องทำงานสัมพันธ์กับบุคคลอื่นเสมอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  ต้องประสานงานหรือไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมอื่นอยู่บ้าง  ดังนั้น หากจะทำงานให้มีความสุขและมีกำลังใจทำงานทุกวันแล้ว ท่านต้องไม่สร้างความร้าวฉานกับการทำงานกับบุคคลอื่น  แต่จงระวังรักษาอารมณ์และความคิดเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีและสามัคคีปรองดองกับบุคคลอื่นอยู่เสมอ

อย่างน้อยก็ให้งานเดินหน้าไปด้วยดี และทำงานได้อย่างสบายใจ
 
เรื่องที่สาม สร้างทิศทางไปสู่เป้าหมาย (Develop Direction) 

ตัวต่อสุดท้ายของการสร้างแรงจูงใจไปสู่ความสำเร็จของตัวเองคือการสร้างทิศทางเดินไปสู่เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้  ที่จริงนั้นทิศทางที่ว่าก็คือวิธีการที่ท่านจะเลือกใช้ลงมือทำในทุกวัน (Day-to-day Strategy & Action)  เพื่อให้ภาพความสำเร็จในเรื่องก่อนหน้าเกิดขึ้นได้จริง

อย่างไรก็ตามในเส้นทางที่เราเดินไปสู่เป้าหมายนั้น บางครั้งก็อาจจะเกิดความท้อแท้เพราะทำอะไรหลายอย่างไปแล้วยังประกอบเป็นความสำเร็จในเป้าหมายหลักยังไม่ได้เสียที ก็ขอให้ท่านคิดเสียว่าเป้าหมายที่ทรงคุณค่าของท่านนั้น เป็นอะไรที่ต้องแลกมาด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นพิเศษ

และขอให้ลองคิดทบทวนดูด้วยว่าอะไรหรือคือเหตุผลที่ทำให้เราลงมือทำสิ่งหนึ่งนั้น ?  และสิ่งนั้นมีความหมายกับเรามากน้อยเพียงใด ? หากทบทวนแล้วพบว่าสิ่งนั้นทรงคุณค่าอย่างยิ่งต่อชีวิตต่ออาชีพการงานของท่าน ก็จงเดินหน้าลงมือทำต่อไปอย่างไม่ลดละ  คิดเช่นนี้ได้ก็จะช่วยให้เกิดแรงจูงใจกับการลงมือทำเรื่องนั้นต่อไปอย่างไม่น่าเชื่อเลยล่ะครับ

โปรดจำไม่เสมอว่า การผลักดันตัวเองให้ก้าวผ่านอุปสรรคและความท้อแท้ทั้งหลายที่อาจจะเกิดขึ้นมาได้ ล้วนเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเกิดความความมั่นใจและแรงจูงใจไปสู่ความสำเร็จในการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพ ที่ต้องเริ่มลงมือทำจากตัวเองโดยไม่ปล่อยให้ความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง ไร้ทางออกมากัดกร่อนกินใจ  

พร้อมกันนั้น ขณะที่เดินไปตามทางแห่งเป้าหมายที่วางไว้ก็อย่าได้ไปเผลอเปรียบเทียบตัวเองกับใคร เช่นอย่าเผลอไปคิดว่าฉันทำประสบความสำเร็จร่ำรวยแบบพี่คนนั้นไม่ได้หรอก เพราะการคิดเช่นนี้ก็รังแต่จะทำให้เราขาดแรงจูงใจของตัวเองไปอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะอันที่จริงนั้นเหตุปัจจัยที่จะทำให้คนคนหนึ่งประสบความสำเร็จนั้นมีแตกต่างกันไปจากคนอื่นในรายละเอียด และยังต่างกันที่ระดับของความมุ่งมั่นตั้งใจทำให้ประสบความสำเร็จอีกต่างหาก และเป็นไปได้มากว่าวันนี้คนคนหนึ่งอาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะยังไม่ได้ลงมือทำเหตุปัจจัยบางอย่างในขณะที่คนอื่นอาจจะลงมือทำแล้วแต่ไม่ได้ผลเพราะเหตุปัจจัยอื่นที่มากระทบ จริงมั้ยครับ ????

ไม่มีงานใดที่จะทำสำเร็จลงได้โดยคนที่ไร้ความสามารถ เรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือท่านจะต้องไม่ปล่อยให้ตัวเองตกอยู่ปลายแถว ด้วยการไม่หันมาพัฒนาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ  เพื่อเติมเต็มตัวเองบ้าง  ทั้งจากที่ลงมือทำเองและการพัฒนาที่องค์กรหยิบยื่นให้  
                  
โปรดตระหนักเสมอว่า ในทั้งสังคมธุรกิจหรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรนั้นต่างก็มีสิ่งที่คล้ายกันคือมีพนักงานทั้งที่เป็นกลุ่มกลุ่มหัวกะทิ (High Performer / Fast Track) กลุ่มฝีมือปานกลาง (Average Performer  / Normal Track) และกลุ่มที่มีผลงานค่อนข้างต่ำถึงต่ำมาก (Poor Performer  / Slow Track) คนกลุ่มแรกและกลุ่มที่สองนั้น มักจะได้รับโอกาสในการพัฒนาจากองค์กรให้เติบโตงอกงามตามสายอาชีพมากกว่าคนกลุ่มหลังสุด ด้วยเพราะเชื่อว่าจะทำประโยชน์ให้กับองค์กรได้เป็นแน่แท้ และคนที่กลุ่มที่อาจจะหมดสิทธิเดินต่อไปกับองค์กรก็คงหนีไม่พ้นกลุ่มหลังที่ยังงัยก็ไร้คุณค่ามากกว่าสองกลุ่มแรก
หากไม่อยากตกเป็นปลายแถวแล้ว หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรู้จักเรียนรู้ปรับปรุงตนเองโดยไม่เผลอตัวเผลอใจใมห้ใช้ชีวิตไปวันวัน กลายเป็นคนกลุ่มที่สามที่องค์กรใดก็ไม่พึงประสงค์  ซึ่งมักสูญเสียโอกาสก้าวหน้าในอาชีพไปอย่างน่าเสียดายเวลาของชีวิตแต่ละวัน  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น