วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

แนวทางการประสานงาน (Collaboration) ในองค์กร

ท่านผู้อ่านคงเห็นพ้องต้องกันกับผมไม่มากก็น้อยว่า การที่ทุกฝ่ายหรือหน่วยงานในองค์กรที่สามารถทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น  เข้าใจและตอบสนองงานซึ่งกันและกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ย่อมสร้างประสิทธิผลของงาน นำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์กรได้ไม่ยากนัก 

ทว่า การทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น ที่ต้องอาศัยการประสานงานหรือการประสานความร่วมมือระหว่างกัน  (Collaboration) นั้น  ฟังดูเป็นเรื่องที่ดูเหมือนไม่ยาก และดูจะง่ายเสียจนไม่ว่าองค์กรใด ต่างก็กำหนดไว้เป็นคุณลักษณะพื้นฐานของคนที่องค์กรต้องการรับเข้าทำงาน แต่จนแล้วจนรอด  การสร้างให้เกิดสภาพความร่วมมือระหว่างกัน ก็ไม่ใช้เรื่องที่ง่ายเช่นที่คิดแม้แต่น้อย

งานวิจัยทางวิชาการ และเหล่านักปฏิบัติผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย ต่างพยายามค้นคว้าหาแนวทางที่เป็นไปได้จริงในการสร้างความร่วมมือในองค์กร หรือระหว่างผู้คนทั้งหลายที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกันสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง โดยฉพาะในโลกของการปฏิบัติที่ล้วนต่างหวังผลเลิศว่าจะเป็นมรรควิธีสู่การบรรลุเป้าหมายที่วางไว้   จึงปรากฎผลการศึกษาวิจัย และงานเขียนแนะนำที่หลากหลาย

Lynda Gratton นักวิจัยในโครงการ The Cooperative Research Project แห่ง London Business School และ Tamara J. Erickson ประธานสถาบันวิจัย Concours of BSG Alliance เป็นกลุ่มนักวิชาการและนักปฏิบัติผู้เชียวชาญ ได้เคยเสนอข้อค้นพบที่เป็นแนวปฏิบัติอันทำให้เกิดการทำงานร่วมกันที่ดีในทีมงาน ตีพิมพ์ลงใน Harvard Business Review เมื่อปลายปี ค.ศ. 2007  พบประเด็นหรือเงื่อนไขสำคัญที่ส่งผลต่อความล้มเหลวของการประสานงานระหว่างกันของเหล่าสมาชิกในทีมงานอย่างน่าสนใจหลายประการ กล่าวคือ

ประการแรก  ทั้งสองท่านบอกว่า  ขนาดของทีม  เป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยกับการพัฒนาความร่วมมือ หรือการทำงานอย่างสอดประสานกันระหว่างสมาชิกในทีม  โดยหากทีมใดที่มีสมาชิกมากกว่า 20 คนขึ้นไป  มักปรากฎว่า ระดับของการให้การประสานงาน  การร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเป็นธรรมชาติท่ามกลางเหล่าสมาชิกทั้งหลาย  กับมีแนวโน้มลดลง

ประการที่สอง  การที่สมาชิกในทีมอยู่ห่างไกลกัน และต้องพึ่งพาการสื่อสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยขาดการปฏิสัมพันธ์ซึ่งหน้ากัน (face-to-face communication)  เป็นเงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้การประสานงานระหว่างกันลดน้อยถอยลง  ผมคิดว่า การทำงานกันที่เป็นแบบกึ่งเป็นทางการบ้าง  เป็นทางการบ้าง คละเคล้ากันไปในสัดส่วนที่ลงตัว  จะช่วยลดโอกาสความคับข้องใจที่อาจจะเกิดขึ้นจากความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายได้  และการที่คนคุยกันแบบพบปะซึ่งหน้ามากขึ้นนั้น ก็จะช่วยให้สามารถระบายสิ่งที่ไม่สบายใจออกมาด้วยกันได้ง่ายขึ้น  เพราะคู่สนทนาจะมีโอกาสได้ตีความสิ่งที่คิดและสิ่งที่พูดตรงหน้า  หากไม่เข้าใจกัน ก็จะเคลียร์กันไปได้ในระดับหนึ่ง  ผิดจากการส่งเมล์อิเล็กทรอนิกส์ถึงกัน หากการสื่อสารไม่ชัดเจน เข้าทำนองว่า เขียนไม่ค่อยรู้เรื่อง ย่อมจะเสี่ยงต่อการตีความที่ผิดพลาด  พาลให้ทะเลาะกันไปเสียอีก

ประการที่สาม  ความหลากหลาย (Diversity) ของสมาชิกในทีม  แม้ดูจะมีข้อดีอยู่บ้างในแง่ที่มาที่หลากหลายสาขาอาชีพของสมาชิกในทีม และย่อมช่วยให้เกิดความคิดที่หลากหลายและเป็นบ่อเกิดของมุมมองใหม่ ๆ ทว่า ความแตกต่างของสายอาชีพที่มีมากนี้  กลับส่งผลให้การแลกเปลี่ยนแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร หรือความรู้ระหว่างกันของสมาชิกในทีมลดน้อยลง

ประการที่สี่  เช่นเดียวกับข้อที่ผ่านมา  การที่ทีมทำงานที่มีสมาชิกเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับสูง หรือมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กลับทำให้ผลงานของทีมลดลง พร้อมกับมีโอกาสเกิดความขัดแย้งในทีมสูงด้วย

จากสี่ประการที่ผมได้สรุปนำเสนอ  ท่านผู้อ่านต้องการจะสร้างสภาพการทำงานอย่างสอดประสานกันแล้ว  จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาถึงการขนาดของทีมที่เหมาะสม ไม่ใหญ่เทอะทะ และไม่เล็กเกินไปยังต้องจนกระทั่งขาดความเชี่ยวชาญที่หลากหลายของสมาชิกในทีม  ในขณะที่ต้องมองถึงคุณสมบัติของสมาชิก ที่มองถึงการสื่อสารสัมพันธ์กันทั้งด้วยวัจนะและอวัจนะภาษา โดยไม่พึ่งพิงเทคโนโลยีในการแบ่งปันส่งผ่านข้อมูลข่าวสารถึงกันมากจนเกินไปจนลืมปฏิสัมพันธ์ที่ควรจะต้องมีระหว่างบุคคล  พร้อมกับคำนึงถึงโอกาสในการเกิดความขัดแย้งที่ควรออกมาในเชิงสร้างสรรค์  อันจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของการทำงานร่วมกันเป็นทีมนั่นเอง  

ในงานที่ต่อเนื่องกันของ Gratton และ Erickson เป็นงานที่ศึกษาถึงประสิทธิภาพของทีมงานจากกรณีศึกษาองค์กรข้ามชาติขนาดใหญ่จำนวน 15 องค์กร (จากทีมงานรวม 55 ทีม) พร้อมกับสอบถามความคิดเห็นจากพนักงานในองค์กรข้ามชาติขนาดกลางอีกมากกว่า 1,500 คน ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจซึ่งชี้ให้เราเห็นถึงปัจจัยเกื้อหนุนต่อประสิทธิภาพของการประสานงานจากการทำงานเป็นทีม  ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 4 ด้าน ดังนี้

1. การสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง (Executive Support)

การที่ผู้บริหารลงทุน และสนับสุนนทั้งเวลาและทรัพยากรทั้งหลายในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีในหมู่พนักงานน้อยใหญ่ อาจจะด้วยการลงไปพูดคุย เยี่ยมเยียน การพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มพนักงาน  เป็นความใกล้ชิดที่ส่งผลทางใจไม่น้อยกับการทำงานร่วมกันเป็นทีม ทั้ยภายในและระหว่างทีมต่าง ๆ ในองค์กร  ทั้งนี้  การสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง ปรากฎออกมาได้หลายลักษณะได้แก่

1.1 การเป็นแบบอย่างที่ดีในการเป็นผู้นำทีม (Team Leader Modeling)  ด้วยการเป็นผู้นำสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงานเป็นทีม  มุ่งคิดหาวิธีการสานสร้างและกระชับความสัมพันธ์ หรือสร้างเครือข่ายในแบบฉบับเฉพาะขององค์กรที่อจจะแตกต่างกันไปบ้างในรายละเอียด การเป็นแบบอย่างประการนี้  ช่วยสะท้อนค่านิยมของผู้บริหารต่อการความสำคัญในเรื่องมนุษยสัมพันธ์และความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในองค์กรได้ในทางหนึ่ง  และสิ่งนี้ ก็สะท้อนไปมีอิทธิพลต่อการให้ความสำคัญต่อคุณค่าในเรื่องมนุษยสัมพันธ์และความไว้วางใจของแต่ละบุคคลในทีมงานและองค์กรได้เป็นอย่างดี

1.2 การสอนแนะ (Coaching) รวมทั้ง การมุ่งปลูกฝัง เสริมสร้างอุปนิสัยที่พร้อมแบ่งปันความรู้และการเสนอแนะความคิดเห็นในหมู่พนักงาน  คุณค่าเรื่องนี้  มีอิทธิพลต่อการให้ความสำคัญต่อคุณค่าของพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองอยู่เสมอ

2. การพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานเป็นทีม

งานนี้ จัดได้ว่าเป็นบทบาทหลักของหน่วยงานที่ทำหน้าที่พัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยจะต้องมุ่งเสริมทักษะความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นให้แก่สมาชิกในทีม การมุ่งพัฒนาทักษะด้านนี้  เกิดขึ้นมาจากข้อติดขัดบางประการที่มักพบกันบ่อยครั้งว่า หลายกรณีพนักงาน หรือผู้บริหารเต็มใจเองก็เต็มในที่จะให้ความร่วมมือ และประสานงานกัน หากแต่ ยังมักจะไม่รู้ถึงวิธีที่จะทำให้เกิดความร่วมมือที่มีประสิทธิผล  การเสริมสร้างทักษะ จึงเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้หากองค์กรมุ่งหวังให้เกิดผลที่ดีทั้งในระยะสั้นและอย่างยั่งยืน คำถามมีอยู่ว่า  ทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานเป็นทีมที่ว่านี้  มีเรื่องใดบ้าง ?

จากการศึกษาของทั้งสองท่าน พบว่า ประกอบด้วย

2.1 ทักษะความรู้ด้านการทำความเข้าใจและชื่นชมผู้อื่น  การจัดการวุฒิภาวะทางอารมณ์  การสื่อสารและ  สนทนาในสถานการณ์ที่ยากลำบาก (Crucial Conversation)  การสอนและแนะนำงาน (Coaching) การแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์  การบริหารโครงการ เป็นต้น

2.2 ทักษะในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในทีมงาน ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการหมุนเวียนเรียนงาน (Job Rotation)  การเสริมสร้างบรรยากาศการทำงานที่สนุก ท้าทาย มุ่งเน้นการช่วยเหลือกัน  ผ่านกิจกรรมความสัมพันธ์ในทีม  รวมไปถึงความเข้าใจต่อการยกย่องเชิดชูทีมงานที่เป็นต้นแบบของการทำงานที่ร่วมมือร่วมใจกันอย่างมีประสิทธิผล

3. การพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำทีม (Team Leader Skill)

โดยอาจจะมุ่งพัฒนาผู้นำให้รู้จจักการใช้สไตล์การทำงานที่เน้นงาน หรือการชี้แจงเป้าหมาย วัตถุประสงค์ แจกแจงบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ จากนั้น ก็เพิ่มพูนทักษะการบริหารที่เน้นความสัมพันธ์  เพื่อสร้างความรู้สึกร่วม ความไว้เนื้อเชื่อใจ การสนับสนุนแบ่งปันข้อมูล ความช่วยเหลือต่างๆ  ผู้รู้ทั้งสองท่านให้ความเห็นว่า  ผู้นำที่มีคุณลักษณะเช่นที่ว่าไปนี้  จะช่วยทำให้ผลงานโดยรวมของทีมเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

4. การสร้างทีมใหม่และการจัดโครงสร้างของทีม

ด้วยการจัดสัดส่วนสมาชิกที่เคยทำงานร่วมกันมาก่อนกับสมาชิกใหม่ที่สมดุล แทนที่จะมุ่งสร้างทีมที่มาจากสมาชิกใหม่ที่ไม่เคยรู้จักกันหรือไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน เนื่องจากการสร้างทีมอย่างหลังนี้  จะทำให้เกิดความล่าช้าของงานของทีมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย  นอกจากนี้ การที่ทีมมีสมาชิกทั้งเก่าและใหม่ผสมผสานกัน  ย่อมเอื้อต่อการสอนงาน การแนะนำ และประสานงานกันในทีม  ส่วนการจัดโครงสร้างของทีม มีเจตนาเพื่อให้พนักงานในทีม  ทราบหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจนของตน ป้องกันการสับสนและช่วยให้การประสานความร่วมมือกันเป็นไปโดยราบรื่นมากขึ้น

เทคนิคหรือแนวปฏิบัติที่นำเสนอไปนี้ จัดว่า ไม่ยากที่จะทำความเข้าใจ และนำไปปรับใช้ในองค์กรของท่านผู้อ่านหรอกครับ  และเชื่อว่า หากมีการนำไปใช้อย่างสร้างสรรค์ ผนวกเขากับความตั้งใจจริงของผู้บริหารและเหล่าสมาชิกในทีม การทำงานที่ร่วมมือร่วมใจกันเป็นอย่างดี ย่อมมิใช่เรื่องยากหรือเป็นไปไม่ได้

แต่การรักษาสถานภาพของทีมงานที่มีประสานงานกันได้อย่างมีประสิทธิผลอย่างยาวนานนั่นสิ...ยากยิ่งกว่า...

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น